Tag |
Data |
---|---|
ชื่อเรื่อง | การปรับปรุงพันธุ์แบบมาตรฐานและการกู้ชีพคัพภะของ บัวอุบลชาติเขตร้อนบานกลางคืนของไทยสายพันธุ์แม่พลอย |
หัวหน้าโครงการวิจัย | นายอิศราพงษ์ แคนทอง |
ผู้ร่วมวิจัย | |
ปีงบประมาณ | 2561 |
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสูตรอาหารที่สามารถช่วยเพิ่มการงอกและการรอดชีวิตของคัพภะบัวลูกผสมที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์แบบมาตรฐาน เมล็ดบัวสายแม่พลอย (Nymphaea rubra Roxb. ‘Maeploi’) ที่เก็บจากต้นแม่ที่สมบูรณ์ ภายในพิพิธภัณฑ์บัว ฝ่ายภูมิทัศน์ กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถูกนำมาศึกษาการฟอกฆ่าเชื้อด้วยสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ ความเข้มข้นร้อยละ 20 โดยปริมาตรต่อปริมาตร ที่ระยะเวลาต่างกันตั้งแต่ 5, 10, 15 และ 20 นาที สำหรับการฟอกครั้งที่ 1 และการฟอกฆ่าเชื้อด้วยสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ ที่ความเข้มข้นตั้งแต่ร้อยละ 5, 10, 15 และ 20 โดยปริมาตรต่อปริมาตร เป็นเวลา10 นาที สำหรับการฟอกครั้งที่ 2 และพัฒนาสูตรอาหารสำหรับการเพาะเมล็ดบัวสายแม่พลอยในสภาพโรงเรือนโดยใช้ปริมาณธาตุอาหารของพืชสูตร MS ที่ความเข้มข้นแตกต่างกัน (MS, 1/2MS, 1/4MS และ 1/8MS) ในส่วนของการปรับปรุงพันธุ์แบบมาตรฐานด้วยวิธีการผสมเกสรด้วยมือ ได้ทดลองผสมข้ามสายพันธุ์กับบัวสายแม่พลอยและบัวสายสีขาว (Nymphaea pubescens Wild.)
จากการทดลองพบว่า เมล็ดบัวสายแม่พลอยที่ฟอกฆ่าเชื้อด้วยสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ที่ความเข้มข้นร้อยละ 20 โดยปริมาตรต่อปริมาตร เป็นเวลา 5 นาที และตามด้วยการฟอกด้วยสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ที่ความเข้มข้นร้อยละ 5 โดยปริมาตรต่อปริมาตร เป็นเวลา 10 นาที มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ต่ำที่สุด (ร้อยละ 0) สำหรับเมล็ดบัวสายแม่พลอยที่เพาะเลี้ยงบนอาหารวุ้นสังเคราะห์สูตร MS ที่ใช้ปริมาณธาตุอาหาร 1/8MS และไม่ให้ได้รับแสงสามารถงอกและรอดชีวิตได้ดีที่สุดและต้นกล้ายังมีการสร้างยอด (ร้อยละ 60) ใบ (ร้อยละ 51.67) และราก (ร้อยละ 48.33) ได้ทันที แต่ต้นกล้าจะมีลักษณะซีดเหลืองกว่าการเพาะเลี้ยงโดยให้ได้รับแสง ในส่วนของการปรับปรุงพันธุ์แบบมาตรฐานด้วยการผสมเกสรข้ามสายพันธุ์ระหว่างบัวสายแม่พลอยและบัวสายสีขาว พบว่าเมล็ดของบัวสายแม่พลอยที่ผสมตัวเองมีอัตราการผสมติดที่ร้อยละ 1.67 และเมล็ดบัวสายสีขาวที่ผสมตัวเองมีอัตราการผสมติดที่ร้อยละ 11.17 ในขณะที่เมล็ดบัวสายลูกผสมกลุ่มที่ 1 ที่ได้จากการใช้บัวสายสีขาวเป็นต้นแม่และใช้บัวสายแม่พลอยเป็นต้นพ่อมีอัตราการผสมติดที่ร้อยละ 5 และเมล็ดบัวสายลูกผสมกลุ่มที่ 2 ที่ได้จากการใช้บัวสายแม่พลอยเป็นต้นแม่และใช้บัวสายสีขาวเป็นต้นพ่อมีอัตราการผสมติดที่ร้อยละ 3.33 เมื่อศึกษาการกู้ชีพคัพภะบัวสายลูกผสมด้วยการเพาะเมล็ดบนอาหารวุ้นสังเคราะห์สูตร MS ที่ใช้ปริมาณธาตุอาหาร 1/8MS เปรียบเทียบกับการเพาะเมล็ดบนอาหารวุ้นสังเคราะห์สูตร MS โดยใช้ปริมาณธาตุอาหารพืชปกติ พบว่าเมล็ดบัวสายแม่พลอยและบัวสายสีขาวที่ได้จากการผสมตัวเองมีการงอกและการรอดชีวิตสูงที่สุดเช่นเดียวกันคือร้อยละ 51.67 ในขณะที่เมล็ดบัวสายลูกผสมกลุ่มที่ 1 มีการงอกและการรอดชีวิตที่ร้อยละ 35 และบัวสายลูกผสมกลุ่มที่ 2 มีการงอกและการรอดชีวิตที่ร้อยละ 31.67 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ถือเป็นการพัฒนาองค์ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์แบบมาตรฐานด้วยวิธีการผสมเกสรด้วยมือและการกู้ชีพคัพภะของเมล็ดบัวสายลูกผสมในบัวสายแม่พลอย ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับต่อยอดการศึกษาหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบัวและพืชน้ำชนิดอื่นๆต่อไปได้