การใช้น้ำหมักพืชสมุนไพรป้องกันกำจัดแมลงศัตรูบัวผันพันธุ์ฉลองขวัญ ที่แปลงทดสอบ พิพิธภัณฑ์บัวมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2557 เพื่อ 1. หาสูตรน้ำหมักพืชสมุนไพรที่เหมาะสมต่อการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูบัวผันพันธุ์ฉลองขวัญ 2. ศึกษาประสิทธิภาพของน้ำหมักพืชสมุนไพรที่มีผลต่อการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูบัวผันพันธุ์ฉลองขวัญ 3. ศึกษาประสิทธิภาพของน้ำหมักพืชสมุนไพรที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของบัวผันพันธุ์ ฉลองขวัญ วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ ประกอบด้วย 6 ชุดทดลอง ได้แก่ 1. ชุดควบคุม 2. สูตรตะไคร้หอม (Cymbopogon nardus (L.) Rendle) 3. สูตรเมล็ดสะเดาบด (Azadirachta indica A. Juss. var. siamensis Valeton) 4. สูตรบอระเพ็ด (Tinospora crisp (L.) Miers ex Hook.f.& Thomson) 5. สูตรหนอนตายหยาก (Stemona collihsae Craib) 6. สูตรผสม โดยการผสมน้ำหมัก พืชสมุนไพรที่หมักไว้นาน 30 วัน ปริมาณ 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นทั่วใบและดอกทุก 7 วัน เป็นเวลา 10 สัปดาห์ ผลการศึกษาการหาสูตรน้ำหมักพืชสมุนไพรที่เหมาะสมต่อการป้องกัน กำจัดแมลงศัตรูบัวผันพันธุ์ฉลองขวัญ พบว่าค่าความเป็นกรด ด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 3.52 – 4.29 ส่วนอุณหภูมิอยู่ในช่วง 31-32 องศาเซลเซียส และค่าความเข้มข้นของของแข็งละลายในสารละลาย มีค่า 3.5 – 13 องศาบริกซ์ โดยผลการใช้น้ำหมักสมุนไพรสูตรผสมมีจำนวนใบที่เฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 25 ใบต่อต้นในสัปดาห์ที่ 6 ค่าเฉลี่ยมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งกับสูตรอื่น การศึกษา ประสิทธิภาพของน้ำหมักพืชสมุนไพรที่มีผลต่อการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูบัวผันพันธุ์ฉลองขวัญ พบว่าจำนวนใบเสียมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับชุดควบคุม ในสัปดาห์ที่ 1 – 3 การใช้น้ำหมักพืชสมุนไพรสูตรผสมมีจำนวนใบเสียเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ 1.67 ใบต่อต้น แตกต่าง จากชุดควบคุมที่มีจำนวนใบเสียเฉลี่ย 6.33 ใบต่อต้น การศึกษาประสิทธิภาพของน้ำหมักพืช สมุนไพรที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของบัวผันพันธุ์ฉลองขวัญ พบว่าในสัปดาห์ที่ 9 การใช้น้ำหมัก สมุนไพรสูตรบอระเพ็ดมีจำนวนดอกเฉลี่ยสูงสุด 7.67 ดอกต่อต้น และการใช้น้ำหมักพืชสมุนไพร สูตรผสมมีจำนวนใบตีเฉลี่ยสูงสุด 20 ใบต่อต้น