Tag |
Data |
---|---|
ชื่อเรื่อง | เปรียบเทียบลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของบัวหลวง 4 สายพันธุ์ เพื่อการใช้ประโยชน์ |
หัวหน้าโครงการวิจัย | นางเยาวมาลย์ น้อยใหม่ |
ผู้ร่วมวิจัย | นางรุจิรา เดชสูงเนิน นายกฤษณะ กลัดแดง |
ปีงบประมาณ | 2561 |
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบลักษณะทางพฤกษศาสตร์และการจำแนกบัวหลวง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ บัวหลวงราชินี บัวหลวงปทุม บัวหลวงปัทมาอุบล และบัวหลวงนครสวรรค์ ซึ่งเป็นแนวทางในการคัดเลือกสายพันธุ์บัวที่ต้องการใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม โดยวางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์และปลูกต้นพันธุ์บัวหลวงโดยใช้ไหล สายพันธุ์ละ 10 ต้น และทำการปลูก 3 ซ้ำ อนุบาลต้นพันธุ์เป็นเวลา 1 เดือน แล้วจึงย้ายปลูกลงอ่างทดลองขนาดความกว้าง 50 เซนติเมตร ความสูง 50 เซนติเมตร เมื่อต้นพันธุ์มีอายุ 3 เดือน บันทึกข้อมูลเป็นระยะเวลา 3 เดือน ปลูกศึกษาใน 1 ฤดูกาลปลูก ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน 2561 ในพื้นที่ทดลองพิพิธภัณฑ์บัว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผลการศึกษาพบว่า บัวหลวงราชินี ดอกมีขนาดใหญ่ที่สุด มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 21.83 เซนติเมตร ขนาดใบใหญ่ ก้านดอกยาว 129.43 เซนติเมตร จำนวนและน้ำหนักเกสรต่อดอกสูงสุด 3.33 กรัม ฝักแก่มีขนาดใหญ่ 12.25 เซนติเมตร จำนวนรังไข่มาก เหง้ามีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักสูงสุด ในขณะที่บัวหลวงปทุม เป็นสายพันธุ์ที่ให้ดอกหลังปลูกเร็วที่สุดหลังการเพาะปลูก 35 วัน ให้ดอกและผลผลิตเกสรต่อต้นสูงสุด บัวหลวงปัทมาอุบล เป็นสายพันธุ์ที่ดอกมีขนาดใหญ่ ใบใหญ่ 47.7 เซนติเมตร ก้านใบยาว 126.07 เซนติเมตร ขนาดฝักใหญ่ จำนวนรังไข่มาก การติดเมล็ดสูงสุดถึงร้อยละ 68.55 และในส่วนของบัวหลวงนครสวรรค์ ดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร ก้านใบและก้านดอกมีขนาดใหญ่ 1.04 และ 1.05 เซนติเมตร ตามลำดับ ก้านดอกยาว 127.83 เซนติเมตร จำนวนและน้ำหนักเกสรต่อดอกมาก 2.98 กรัม การติดเมล็ดดีสูงสุด และเมล็ดมีขนาดใหญ่ กว้าง 1.16 เซนติเมตร ยาว 1.58 เซนติเมตร เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างพันธุ์สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ ด้านบัวดอก บัวหลวงปทุม เป็นสายพันธุ์ที่ให้ดอกเร็วหลังปลูก มีจำนวนดอกเฉลี่ยต่อต้นสูงสุด 16 ดอก ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ในการตัดดอก สำหรับบัวเมล็ด บัวหลวงนครสวรรค์ เป็นสายพันธุ์ที่มีการติดเมล็ดได้สูงที่สุดถึงร้อยละ 84.11 รองลงมาคือบัวหลวงปัทมาอุบล และบัวหลวงราชินี ร้อยละ 75.29 และ 67.96 ตามลำดับ และบัวราก บัวหลวงราชินี เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดและน้ำหนักราก (เหง้า) สูงสุด 885.17 กรัมต่อต้น รองลงมาคือบัวหลวงปัทมาอุบล และบัวหลวงนครสวรรค์ 585.0 และ 430.67 กรัม โดยค่าเฉลี่ยของแต่ละตัวแปรที่ศึกษามีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ (p≤0.05) เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยวิธี Duncan’s New Multiple Range Test (DMRT) จากผลการศึกษาช่วยให้สามารถคัดเลือกสายพันธุ์บัวหลวงที่ต้องการใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมสำหรับการปรับปรุงพันธุ์บัวหลวงในอนาคต