Tag |
Data |
---|---|
ชื่อเรื่อง | การพัฒนาสีจากบัวประดับบางสายพันธุ์สำหรับการวาดภาพบนกระดาษ |
หัวหน้าโครงการวิจัย | นางเยาวมาลย์ น้อยใหม่ |
ผู้ร่วมวิจัย | ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัตนฤทธิ์ จันทรรังสี นายอิศราพงษ์ แคนทอง |
ปีงบประมาณ | 2561 |
การศึกษานี้เป็นการพัฒนาสีที่ได้จากบัวประดับบางสายพันธุ์ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์อุบลชาติ ได้แก่ บัวสายสีแดงและบัวฉลองขวัญ โดยการสกัดสีจากชิ้นส่วนพืชตัวอย่างด้วยวิธีการต้มในน้ำเดือด แช่ในตัวทำละลายเอทานอลความเข้มข้นร้อยละ 60 แช่ในสารละลายกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้นร้อยละ 1 ในเอทานอลความเข้มข้นร้อยละ 60 และแช่ในสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์เข้มข้นร้อยละ 1 ในเอทานอล ความเข้มข้นร้อยละ 60 ทำสารสกัดเข้มข้นด้วยการระเหยแบบสุญญากาศที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส จากนั้นนำไปทำผงสีโดยใช้สารตัวกลางในการดูดซับ 3 ชนิดได้แก่ ดินสอพอง ซิลิกาเจล และดินเบนทอไนท์ วัดค่าสีจากภาพถ่ายโดยค่า RGB ของสีด้วยโปรแกรม Photoshop Image J โดยสีที่ถูกคัดเลือกมีความเชื่อมโยงกับสีมาตรฐาน 5 สี ได้แก่ Yellow Brown, Grey, Burnt Umber, Burnt Sienna และYellow Ochre ทดสอบคุณลักษณะสีและทำการประเมินคุณลักษณะของสีจากผู้ตอบแบบสอบถามในกิจกรรม Art workshop จากการศึกษาพบว่าการสกัดสีจากบัวประดับโดยวิธีการต้มในน้ำเดือด และแช่ในตัวทำละลายที่มีสภาวะความเป็นกรด ด่าง ต่างกัน แล้วนำไปทำสารสกัดเข้มข้นทำให้ได้สารสกัดที่มีสีต่างๆ ได้ผงสีโดยการใช้สารดูดซับ 3 ชนิด คือผงสีเหลืองถึงสีน้ำตาลเข้มได้จากการใช้ดินสอพองเป็นสารดูดซับ ผงสีชมพู สีเหลืองและสีน้ำตาลได้จากการใช้ซิลิกาเจลเป็นสารดูดซับ และผงสีน้ำตาลสีเทาถึงสีดำได้จากการใช้ดินเบนโทไนท์เป็นสารดูดซับ ซึ่งดินสอพองสามารถดูดซับสีได้ดีที่สุด (ร้อยละ55.40) รองลงมาคือซิลิกาเจล (ร้อยละ 48.38) และดินเบนโทไนท์ (ร้อยละ 38.11) ตามลำดับ ซึ่งค่าเฉลี่ยระหว่างสารดูดซับ 3 ชนิด ไม่แตกต่างทางสถิติ เมื่อพิจารณาการดูดซับของสาร 3 ชนิดร่วมกับวิธีการสกัด 4 วิธี พบว่าค่าเฉลี่ยแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 95% การวัดค่าสีสามารถคัดเลือกสีที่ใกล้เคียงกับสีมาตรฐานจากการคำนวณค่าความถูกต้อง ได้จำนวน 15 สี การทดสอบคุณลักษณะสีตามคุณลักษณะที่กำหนดจากผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 103 คน ประเมินความพึงพอใจด้านความโปร่งใสของสี ความกึ่งทึบแสงของสี ระดับค่าของสี และคุณภาพโดยรวมของสีได้ผงสีที่มีคะแนนความพึงพอใจในภาพรวมของสีสูงสุดจำนวน 5 สี และนำไปใช้ในการประเมินคุณลักษณะของสีจากกิจกรรม Art workshop ซึ่งผลการประเมินความพึงพอใจต่อการวาดภาพด้วยสีจากบัวประดับ พบว่าคะแนนความพึงพอใจด้านความกึ่งทึบแสงของสี มีมากที่สุด(ร้อยละ 76.6) รองลงมาคือความทึบแสงของสี(ร้อยละ 75.33) และความโปร่งใสของสี(ร้อยละ 72.00) ตามลำดับ ส่วนระดับค่าของสี มีคะแนนความพึงพอใจร้อยละ 70.00 และคุณภาพโดยรวมของสี มีคะแนนความพึงพอใจร้อยละ 74.67