วิจัย1
19/07/2022
การพัฒนาก้านบัวหลวงอัดแห้งสำหรับผลิตภัณฑ์งานประดิษฐ์
19/07/2022
การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดจากบัวผันเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
บัวฉลองขวัญ (C) บัวขาวมงคล (K) และบัวชมพูมะเหมี่ยว (P) เป็นบัวสกุลย่อย Brachyceras ของสกุล Nymphaea ซึ่งอยู่ในวงศ์ Nymphaeaceae พบได้ในประเทศไทย ในการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการสกัดสารจากส่วนต่างๆของบัวทั้ง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ใบ (1) กลีบดอก (2) เหง้า (3) เกสร (4) และก้าน (5) ด้วยวิธีการหมักใน 95% เอทานอล (E) และการต้มในน้ำเดือด (W) ซึ่งพบว่าสารสกัดจากบัวผันเหล่านี้มีสารกลุ่มแอนทราควิโนน กลุ่มฟลาโวนอยด์ และกลุ่มแคโรทีนอยด์เป็นองค์ประกอบหลัก จากการศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของสารสกัดทั้งหมด พบว่า สารสกัดด้วยวิธีต้มน้ำจากใบของบัวสายพันธุ์ฉลองขวัญ (C1W) มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ในยับยั้งการเกิดเปอร์ออกซิเดชันของไขมัน และฤทธิ์คีเลชันของโลหะได้ดีที่สุด ซึ่งมีฤทธิ์เทียบเท่ากับสารควบคุมด้านบวก (p < 0.05) นอกจากนี้ในการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดบัวผันเหล่านี้ พบว่า สารสกัดเอทานอลจากเกสรของบัวสายพันธุ์ชมพูมะเหมี่ยว (P2E) เป็นสารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบที่ดีที่สุดในเซลล์แมคโครฟาจ (RAW 264.7) ที่ถูกกระตุ้นด้วย LPS ได้ โดยสามารถยับยั้งการผลิตไนตริกออกไซด์ (36 %) และยับยั้งการแสดงออกของ PGE2 (44 %) และ Cox-2 mRNA (35 %) ซึ่งมีฤทธิ์เทียบเท่ากับยาไดโคลฟีแนค (p < 0.05) ซึ่งเป็นยาต้านอักเสบที่มีการใช้ทั่วไปในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดเอทานอลจากเกสรของบัวสายพันธุ์ชมพูมะเหมี่ยว (P4E) มีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับสารสกัดตัวอื่น โดยมีฤทธิ์ยับยั้งดังนี้ IC50Du-145 เท่ากับ 2.161 ± 0.097 mg/ml, IC50HepG2 เท่ากับ 1.617 ± 0.034 mg/ml, IC50KB เท่ากับ 1.275 ± 0.060 mg/ml, และ IC50Hela เท่ากับ 1.499±0.061 mg/ml ซึ่งพบว่ามีฤทธิ์ดีกว่า ฟลูออโรยูราซิล อีกทั้งยังพบว่าสารสกัดเอทานอลจากเกสรของบัวสายพันธุ์ฉลองขวัญ (C2E) มีฤทธิ์ต้านการสะสมไขมันดีที่สุด โดยสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไลเปส และการสะสมไขมันในเซลล์ไขมันได้อีกด้วย สุดท้ายนี้พบว่าสารสกัดจากบัวสายพันธุ์ฉลองขวัญ มีฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟา-อะไมเลส และเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดส จากผลการทดลองทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า สารสกัด C2-E มีฤทธิ์ทางชีวภาพดีที่สุด พร้อมทั้งมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่หลากหลาย จึงมีการทำสารสกัดนั้นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติได้แก่ ชาชงสำเร็จรูป ชาอัดเม็ด และแคปซูลบำรุงร่างกาย
Tag |
Data |
---|---|
หัวหน้าโครงการ | ผศ.ดร. กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ |
ผู้ร่วมวิจัย | ผศ. ภูรินทร์ อัครกุลธร
ผศ.ดร. ธีระ ชีโวนรินทร์ ดร. สุพนิดา วินิจฉัย |
คำสำคัญ | บัวผัน, ฤทธิ์ต้านอักเสบ, ฤทธิ์ต้านมะเร็ง, ฤทธิ์ต้านภาวะอ้วน, และฤทธิ์ต้านเบาหวาน |
ปีงบประมาณ | 2561 |